11 ก.ค. 2566
คอมมิวนิตี้มอลล์ เป็นศูนย์การค้าที่มีขนาดเล็ก เช่นราวๆ ไม่เกิน 10,000 ตารางเมตร หรือส่วนมากจะล็กกว่านั้น เพื่อให้บริการเฉพาะในท้องที่เป็นสำคัญ คอมมิวนิตี้มอลล์อาจถือเป็นศูนย์การค้าชุมชน ที่ให้บริการสินค้าและบริการทั่วไป มีความหลากหลาย เน้นการสร้างบรรยากาศ และ lifestyle มักมีขนาดไม่ใหญ่มาก เพราะเน้นรองรับความต้องการ (demand) ของประชากรในชุมชนรอบข้าง โดยมีรัศมีการให้บริการตั้งแต่ 3 กิโลเมตรขึ้นไป ขึ้นอยู่กับย่านและความหนาแน่นของประชากร ใครคือคู่แข่งของคอมมิวนิตี้มอลล์ 1. ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งปัจจุบันก็มีของให้ซื้อ "เกือบครบ" โดยเฉพาะสินค้าสำหรับใช้สอยในชีวิตประจำวัน 2. ร้านสะดวกซื้อส่วนขยาย เช่น ร้านเทสโก้ขนาดเล็ก เป็นต้น 3. ศูนย์การค้าแบบ Superstore ที่มาพร้อมพลาซ่าขนาดเล็ก เช่น เทสโก้โลตัส ซึ่งกระจายไปแทบทุกพื้นที่ 4. ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในลักษณะเป็น Regional Mall ในแต่ละโซนของกรุงเทพมหานคร เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่าคอมมิวนิตี้มอลล์ อยู่กลางระหว่าง กลุ่มที่ 2 และ 3 และยิ่งถ้าอยู่ใกล้ห้างขนาดใหญ่ ก็ยิ่งจะไม่มีผู้เข้าไปใช้สอยนัก เพราะห้างต่าง ๆ เน้นความสมบูรณ์แบบ หรือ Total Package ที่เข้าไปได้ครบถ้วนทั้งสินค้าและบริการ นอกจากนี้ในภาวะปัจจุบันการซื้อสินค้าออนไลน์ก็มีมากขึ้น โอกาสการไปซื้อสินค้าในห้างก็จะลดลงตามลำดับ ห้างต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาจึงปิดตัวลงไปเป็นอันมาก ปัจจัยที่ทำให้โครงการคอมมิวนิตี้มอลล์ ไม่ประสบความสำเร็จประกอบด้วย 1. ทำเล ได้แก่ กรณีที่ประชากรในละแวกนั้นมีน้อยไป การเข้าถึงลำบาก อยู่ใกล้คู่แข่งหรือมีแหล่งสินค้าทดแทนอื่นๆ 2. แนวคิดการพัฒนาไม่ดีเท่าที่ควร เช่น จำนวน/พื้นที่เช่ามีมากเกินความต้องการ จำนวนร้านค้าน้อยและขาดผู้เช่าหลักที่จะดึงดูดให้คนเข้ามาใช้สอย ผังอาคารและการจัดวางร้านค้าไม่ดีพอ และจำนวนที่จอดรถที่ไม่เพียงพอ 3. ปัญหาการบริหาร ปัญหาการดึงร้านค้ามาลงโดยดึงมาลงได้น้อยเกินไป ราคาค่าเช่าสูงจึงไม่ตรงคนในพื้นที่ และไม่ปรับการใช้ประโยชน์หรือขาดกลยุทธ์ทางการตลาด