การเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อมนุษย์อย่างไรบ้าง?

Last updated: 10 พ.ค. 2567  |  118 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อมนุษย์อย่างไรบ้าง?

หลากปัญหาสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
 
 
การศึกษาชิ้นล่าสุดพบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ เช่น การต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนที่เป็นอันตราย รวมทั้งสภาพอากาศสุดขั้วต่างๆ และหากเมืองใหญ่และประเทศต่างๆ ทั่วโลกยังไม่ลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์อย่างจริงจัง ปัญหาดังกล่าวก็มีแนวโน้มที่จะเลวร้ายลงเรื่อยๆ
 
รายงานชื่อว่า The Lancet Countdown on Health and Climate Change จัดทำขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อติดตามประเด็นด้านสุขภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก การวิเคราะห์ดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือของสถาบันวิชาการ 24 แห่ง รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศอย่างองค์การอนามัยโลก (World Health Organization)
“เรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนี่ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพกับคนนับล้านคนทั่วโลก” Anthony Costello ประธานร่วมของกลุ่ม The Lancet Countdown และผู้จัดการประจำองค์การอนามัยโลกแสดงความเห็น “ปัญหานี้นับว่าท้าทาย แต่เรายังมีโอกาสเปลี่ยนวิกฤตการณ์ทางสุขภาพนี้ให้กลายเป็นความก้าวหน้าด้านสาธารณสุขแห่งศตวรรษได้”
 
โลกของเรากำลังร้อนขึ้นประมาณ 1.11 องศาเซลเซียสเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อ พ.ศ. 2423 และหากเรายังไม่ลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกซึ่งกักเก็บความร้อนไว้ในโลก เช่น คาร์บอนไดออกกไซด์ ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าอุณหภูมิโลกอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 5 องศาเซลเซียสภายในปลายศตวรรษนี้ ซึ่งนับว่าเป็นมหันตภัยใหญ่หลวง เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์หลายสถาบันสรุปว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ 2 องศาเซลเซียส จะเป็นระดับที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นไม่สามารถฟื้นคืนสู่สภาพเดิมได้ และสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อมนุษย์ การที่โลกร้อนขึ้นไม่ได้หมายถึงเพียงอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น แต่รวมถึงฝนที่เปลี่ยนแปลงไป ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น และภูมิอากาศสุดขั้ว เช่น พายุที่มีพลานุภาพทำลายล้างที่สูงขึ้น
แม้เรามักจะคิดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความเป็นจริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเรา โดยเฉพาะสุขภาพของคนชายขอบในประเทศกำลังพัฒนา รายงานข้างต้นระบุตัวอย่างผลกระทบที่เกิดขึ้นไว้ดังนี้
 
1.ความเครียดจากความร้อน ระหว่างปี พ.ศ. 2543 – 2559 มีผู้ได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนเพิ่มขึ้นราว 125 ล้านคน การเผชิญกับความร้อนที่สูงเกินไป จะทำให้เรารู้สึกวิงเวียน หรือเป็นลมหมดสติ ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับไตเนื่องจากขาดน้ำ และหากไม่ได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์ ผู้ป่วยก็อาจเสียชีวิตได้ ผลกระทบดังกล่าวเกิดขึ้นโดยเฉพาะในเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวซึ่งทำให้เปราะบางต่ออุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป
 
2.การขาดสารอาหาร นับตั้งแต่ พ.ศ. 2533 จำนวนประชากรที่ขาดสารอาหารใน 30 ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกาเพิ่มขึ้นจาก 398 ล้านคน เป็น 422 ล้านคน อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นและภัยแล้งส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกพืชต่างๆ โดยอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1.11 องศาเซลเซียส จะลดผลิตภาพของการปลูกข้าวสาลีราวร้อยละ 6 และการปลูกข้าวร้อยละ 10
 
3.ภัยธรรมชาติ ระหว่างปี พ.ศ. 2550 – 2559 เราเผชิญกับภัยพิบัติเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศทั้งสิ้น 306 ครั้ง เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับ พ.ศ. 2543 ภัยพิบัติ เช่น อุทกภัย หรือพายุเฮอร์ริเคน เป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาสุขภาพ เช่น อุทกภัยจะก่อให้เกิดโรคระบาดทางน้ำและโรคระบาดจากยุง เฮอร์ริเคนจะทำลายพืชอาหาร ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหาร รวมทั้งคุณภาพน้ำ
 
4.โรคระบาด อัตราการระบาดของโรคที่ติดต่อโดยมียุงเป็นพาหนะก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 พบว่าไข้เลือดออกซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรคมีอัตราการระบาดเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 9 อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้ยุงสามารถอยู่อาศัยได้เป็นบริเวณกว้างขึ้น และนำไปสู่การระบาดของเชื้อไวรัสอย่างไข้เลือดออกและซิก้า
 
5.การอพยพครั้งใหญ่ ประชากรอย่างน้อย 4,400 คนถูกบังคับให้ต้องอพยพเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ชายฝั่งถูกกัดเซาะ และความไม่มั่นคงทางอาหารและน้ำจากภัยแล้ง ประชากรราว 1 พันล้านคนคาดว่าจะถูกบังคับให้อพยพภายในสิ้นศตวรรษนี้ และอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง สงครามและความยากจนย่อมส่งผลกระทบเชิงลบด้านสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจของมนุษย์
 
6.ปัญหาทางเศรษฐกิจ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2543 – 2559 อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทำให้ผลิตภาพของแรงงานซึ่งทำงานนอกอาคารโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทลดลงราวร้อยละ 5.3 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา ครอบครัว และชุมชน โดยเฉพาะครัวเรือนที่อาศัยการทำการเกษตรเพื่อยังชีพ สภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้วยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 129 พันล้านดอลลาร์สหรัฐใน พ.ศ. 2559 ความเสียหายดังกล่าวเป็นความเสียหายที่ไม่ได้มีการประกันภัย และเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งส่งผลเลวร้ายต่อความเป็นอยู่และสุขภาพจิตของประชาชน
ประเทศและเมืองใหญ่ทั่วโลกควรประเมินความเสี่ยงเพื่อเตรียมแผนรับมือผลกระทบทางสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นการติดตั้งอุปกรณ์หรือโครงสร้างเพื่อให้มั่นใจได้ว่าโรงพยาบาลหรือสถานอนามัยสามารถดำเนินการได้หากเผชิญสภาพอากาศที่เลวร้ายอุทกภัยหรือไฟฟ้าดับอย่างไรก็ดีสัดส่วนงบประมาณทั่วโลกในการรับมือด้านสุขภาพนั้นยังมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำ
 
“เราต้องทำให้ดีกว่านี้” Christiana Figueres ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาของ The Lancet Countdown แสดงความเห็น “เมื่อหมอแนะนำให้เราดูแลสุขภาพให้ดีขึ้น คนส่วนใหญ่ก็มักจะรับฟัง รัฐบาลก็ควรรับฟังปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นเดียวกัน”
 
อ้างอิงข้อมูล:https://unfccc.int/news
ถอดความและเรียบเรียงจาก From heat stress to malnutrition, climate change is already making us sick โดย Alessandra Potenza
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้