โรคติดเชื้อที่ต้องระวังในช่วงฤดูฝน? ตอนที่ 1

Last updated: 21 มิ.ย. 2567  |  45 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โรคติดเชื้อที่ต้องระวังในช่วงฤดูฝน?  ตอนที่ 1

''โรคติดเชื้อที่ต้องระวังในช่วงฤดูฝน''  ตอนที่ 1

ช่วงนี้เป็นช่วงที่กำลังเข้าสู่ฤดูฝนส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น ซึ่งโรคติดเชื้อที่ควรระวังมีด้วยกัน 6 โรค โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

  1. โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่

โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจ โดยทั่วไปมักติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน แต่อาจเกิดการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนล่างและส่งผลให้เกิดปอดอักเสบได้ โดยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ก่อโรคในคนได้บ่อยมี 2 สายพันธุ์หลัก คือ เอและบี

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ไข้ เจ็บคอ ไอ น้ำมูก ปวดเมื่อยตามตัว ซึ่งอาการมักไม่รุนแรงในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ แต่หากเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหืด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคเลือดธาลัสซีเมีย ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนล่างทำให้เกิดปอดอักเสบและนำไปสู่ภาวะหายใจล้มเหลวได้ โดยแพทย์สามารถวินิจฉัยได้จากการป้ายโพรงจมูกหรือคอไปตรวจหาเชื้อ และโรคไข้หวัดใหญ่สามารถรักษาได้ด้วยยาต้านไวรัสโดยการกินประมาณ 5 วัน

 

โรคปอดติดเชื้อนิวโมคอคคัส เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเช่นเดียวกันแต่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ นิวโมคอคคัส โดยสามารถพบได้ตลอดทั้งปีแต่อาจพบบ่อยขึ้นในช่วงฤดูฝนเนื่องจากมักพบติดเชื้อซ้ำเติมตามหลังติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ หากได้รับเชื้อนิวโมคอคคัสจะทำให้ปอดอักเสบ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนเช่น การติดเชื้อในกระแสเลือดซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้จากการนำเสมหะไปย้อมสีและเพาะเชื้อ และรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ

 

2. โรคที่เชื้อที่มากับน้ำ ได้แก่

โรคฉี่หนู หรือ โรคเลปโตสไปโรซิส เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ เลปโตสไปรา โดยพบเชื้อในปัสสาวะของหนูซึ่งปนเปื้อนในน้ำท่วมขัง หากลุยน้ำหรือแช่น้ำนานประกอบกับผิวหนังที่มีบาดแผลอาจทำให้รับเชื้อแบคทีเรียและติดโรคได้ โดยมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัวตามน่อง ปวดหัว ตาแดง และหากมีอาการรุนแรงอาจพบอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ไตวายร่วมด้วย

การป้องกันโรคฉี่หนูสามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการลุยน้ำ หรือแช่น้ำท่วมขังเวลานาน หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ ควรใส่รองเท้าบูทสูง หรือถ้าลุยน้ำแล้ว ควรรีบล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดทันที กำจัดหนูซึ่งเป็นแหล่งรังโรค โดยในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคนี้โดยเฉพาะ

 

แหล่งข้อมูล

รศ.นพ.จักรพงษ์ บรูมินเหนทร์ สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

โรคในช่วงฤดูฝน โดย ไทยรัฐ

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้