WHO ประกาศเตือนภัย ฝีดาษลิง ภาวะฉุกเฉินระดับโลก

Last updated: 19 ส.ค. 2567  |  35 จำนวนผู้เข้าชม  | 

WHO ประกาศเตือนภัย ฝีดาษลิง ภาวะฉุกเฉินระดับโลก

   การระบาดของ “โรคเอ็มพอกซ์” หรือชื่อเดิมฝีดาษลิง ที่ระบาดตั้งแต่ 2 ปีก่อนกลับมาสร้างความตระหนกอีกครั้ง การระบาดที่รุนแรงของไวรัสเอ็มพอกซ์ในประเทศคองโก ลุกลามไปยังเพื่อนบ้าน ทำให้ WHO ประกาศเตือนภัยภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก

โรคฝีดาษลิง (Monkeypox)
ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 1958 ช่วงการระบาดของโรคที่คล้ายไข้ทรพิษหรือ ฝีดาษ โดยพบในบริเวณที่เลี้ยงลิงไว้เพื่อการวิจัย ต่อมาในปีค.ศ.1970 ได้พบการระบาดเกิดขึ้นในมนุษย์ครั้งแรกที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก  โดยเรียกว่าโรคฝีดาษลิงในคน (Human Monkeypox) ซึ่งระบาดอยู่เพียงประเทศในแถบแอฟริกากลางและตะวันตกเท่านั้น และหลังจากนั้นก็ยังพบว่ามีการติดเชื้อในคนอีกถึง  3 ครั้ง


อาการของโรคฝีดาษลิง (Monkeypox)
โรคฝีดาษลิง เป็นโรควินิจฉัยได้ยาก อาการของโรคจะแสดงหลังจากติดเชื้อไปแล้วประมาณ 12 วัน โดยมีอาการคล้ายโรคฝีดาษ มีลักษณะอาการดังนี้

  • มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดกล้ามเนื้อและอ่อนเพลีย บางกรณีอาจมีอาการไอหรือปวดหลังร่วมด้วย
  • หลังจากมีไข้ประมาณ 1-3 วัน ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นโดยเริ่มจากใบหน้าแล้วแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
  • จากนั้นผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง และสุดท้ายตุ่มหนองจะมีสะเก็ดคลุมแล้วหลุดออกมา อาการป่วยดังกล่าวจะเป็นอยู่ประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ แต่ในกรณีผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำหรือมีโรคประจำตัว อาจเกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ปอดบวม หรือเสียชีวิต


การติดต่อ

  • ฝีดาษลิงสามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น ลิง หนู หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กอื่นๆ
  • นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งจากผู้ที่ติดเชื้อ เช่น เลือด น้ำลาย หรือน้ำเหลืองจากตุ่มฝีดาษ รวมถึงการสัมผัสวัตถุที่มีการปนเปื้อนเชื้อ เช่น ผ้าปูที่นอนหรือเสื้อผ้า


กลุ่มเสี่ยงที่จะรับเชื้อโรคฝีดาษลิง

สำหรับในประเทศไทยเอง ยังไม่เคยมีประวัติการพบโรคดังกล่าว เนื่องจากอยู่ในประเทศที่ไม่มีประวัติการเกิดโรคจากเชื้อไวรัส แต่ปัจจุบันการเดินทางไปท่องเที่ยวหรือทำธุรกิจ ในประเทศกลุ่มเสี่ยง อาจมีโอกาสติดเชื้อและนำกลับมายังประเทศได้ โดยมีกลุ่มเสี่ยงคือ แรงงานต่างชาติ หรือคนไทยที่ไปทำงานในประเทศที่มีการติดเชื้อ นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ผู้ที่เดินทางไปท่องเที่ยวยังประเทศที่เสี่ยงจะมีเชื้อไวรัสระบาด นักธุรกิจ ที่เดินทางไปหรือมาจากประเทศที่พบการติดเชื้อ


การป้องกัน

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่อาจติดเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยที่มีอาการฝีดาษลิง และควรสวมถุงมือและเสื้อผ้าที่เหมาะสมหากจำเป็นต้องสัมผัส
  • รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น ล้างมือบ่อยๆ และทำความสะอาดของใช้ส่วนตัวอย่างสม่ำเสมอ
  • ใช้ผ้าปิดจมูกและปาก เมื่อไปในสถานที่เสี่ยงมีโรคระบาด 


การรักษาโรคฝีดาษลิง

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษา หรือ วัคซีนป้องกันเฉพาะเจาะจง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วย การฉีด วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ 85%



เเหล่งข้อมูล:โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) โรงพยาบาลวัฒนเเพทย์ ตรัง

WHO ประกาศเตือนภัย “ฝีดาษลิง” ภาวะฉุกเฉินระดับโลก หลังระบาดหนักทั่วแอฟริกา พบผู้เสียชีวิตกว่า 450 คน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้